ผลสำรวจผู้บริหารโลจิสติกส์ของอจิลิตี้เผย เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวผ่านพ้นภาวะยุ่งเหยิงด้านซัพพลายเชนไปได้
เหล่าผู้บริหารมีมุมมองบวกเกี่ยวกับปี 2565 แม้โรคระบาดได้นำไปสู่ภาวะชะงักงันและอัตราค่าระวางระดับสูงเป็นประวัติการณ์
ผู้บริหารในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวในระดับปานกลางไปจนถึงแข็งแกร่งและแทบจะไม่มีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2565 แม้ปัญหาด้านซัพพลายเชนและอัตราค่าระวางเรือและเครื่องบินระดับสูงจากผลพวงของการระบาดของโรคโควิด-19 จะยังไม่คลี่คลายลงในทันที
ผู้บริหารประมาณ 2 ใน 3 จากทั้งหมด 756 คนในผลสำรวจดัชนีโลจิสติกส์ในตลาดเกิดใหม่ของอจิลิตี้ (Agility) ประจำปี 2565 เชื่อว่า บรรดาบริษัทขนส่งสินค้าจะเห็นอัตราค่าขนส่งสินค้าลดลงภายในสิ้นปีนี้ โดย 80% คาดการณ์ว่าปัญหาคอขวดบริเวณท่าขนส่ง การขาดแคลนด้านขีดความสามารถทางอากาศ และปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งด้วยรถบรรทุกจะคลี่คลายลงภายในสิ้นปีนี้
"มุมมองบวกของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์สะท้อนข้อเท็จจริงว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นและค้นพบวิธีการเอาตัวรอดจากภาวะชะงักงันด้านห่วงโซ่อุปทาน" คุณทาเรค สุลต่าน (Tarek Sultan) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอจิลิตี้ กล่าว "หากตลาดเกิดใหม่เข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้นและมีการส่งเสริมธุรกิจรายย่อยเล็กน้อย ก็จะช่วยหนุนนำการฟื้นตัวโลกอย่างเป็นวงกว้างและต่อเนื่อง"
ผลสำรวจชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของดัชนีโลจิสติกส์ตลาดเกิดใหม่ของอจิลิตี้ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการสรุปทัศนะอุตสาหกรรมและจัดอันดับตลาดเกิดใหม่ชั้นนำ 50 แห่งของโลกประจำปีครั้งที่ 13 ของอจิลิตี้ ดัชนีดังกล่าวจัดอันดับประเทศต่าง ๆ ในด้านความสามารถในการแข่งขันโดยรวม อิงจากความแข็งแกร่งด้านโลจิสติกส์ สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ และเป็นครั้งแรกที่นำเรื่องความพร้อมด้านดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นเกณฑ์ด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ดึงดูดบริษัทโลจิสติกส์ บริษัทขนส่งระหว่างประเทศ สายการบินและสายเรือ ผู้กระจายสินค้าและนักลงทุนได้
จีนและอินเดีย ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รั้งอันดับ 1 และ 2 ในการจัดอันดับโดยรวม ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ ไทย เม็กซิโก และตุรกีติด 10 อันดับแรก ส่วนเวียดนาม ซึ่งรั้งอันดับ 8 ในปี 2564 หล่นไปอยู่อันดับ 11 ซึ่งสลับกับไทย ด้านแอฟริกาใต้ติดอันดับ 24 ซึ่งสูงสุดในกลุ่มประเทศแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา
เหล่าประเทศอ่าวอาหรับทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมอีกครั้งในด้านความมิตรต่อธุรกิจมากที่สุด โดยมีถึง 5 ประเทศที่ติด 6 อันดับแรก โดยประเทศที่ติด 10 อันดับแรกในด้านปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ บาห์เรน โอมาน ชิลี จีน โมร็อกโก และจอร์แดน ส่วนคูเวต ซึ่งเป็นอีกประเทศในอ่าวอาหรับ รั้งอันดับ 12
จีน อินเดีย และเม็กซิโก ซึ่งเป็นมหาอำนาจด้านการส่งออก ติด 3 อันดับแรกในด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ โดยจีน อินเดีย และอินโดนีเซียครองหัวกระดานในด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศ
เป็นครั้งแรกที่ดัชนีโลจิสติกส์ของอจิลิตี้วัดความพร้อมด้านดิจิทัลของประเทศต่าง ๆ โดยประกอบด้วยทักษะดิจิทัล การฝึกฝน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การเติบโตด้านอีคอมเมิร์ซ สิ่งแวดล้อมด้านการลงทุน และความสามารถในการส่งเสริมสตาร์ทอัพ ตลอดจนปัจจัยด้านความยั่งยืนต่าง ๆ เช่น การผสมผสานพลังงานหมุนเวียน การลดความเข้มข้นในการปล่อยมลพิษ และความริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อม
ประเทศที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย จีน ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย ไทย กาตาร์ อินโดนีเซีย ชิลี และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลมากที่สุดในแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราได้แก่ เคนยา ที่อันดับ 17
"การเชื่อมโยงระหว่างความสามารถด้านดิจิทัลและโอกาสด้านการเติบโตของประเทศหนึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้" คุณสุลต่านกล่าว "ความสามารถในการแข่งขันของประเทศตลาดเกิดใหม่จะพิจารณาจากความสามารถในการพัฒนาธุรกิจที่ใช้ทักษะด้านดิจิทัลและกลุ่มคนมีความสามารถ รวมถึงการแสวงหาวิธีลดการปล่อยมลพิษ ที่ช่วยส่งเสริมการเติบโต มิใช่การเสียสละในด้านการเติบโตเพื่อลดการปล่อยมลพิษ"
ความสำคัญของความพร้อมด้านดิจิทัลปรากฎเด่นชัดในการสำรวจ ผู้บริหารด้านโลจิสติกส์ระบุว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ถือเป็นตัวขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและธุรกิจสำหรับตลาดเกิดใหม่ สิ่งที่บริษัทของพวกเขาให้ความสนใจหลัก ๆ ได้แก่ เทคโนโลยีและความยั่งยืน
ไฮไลท์ของดัชนีประจำปี 2565:
-การจัดอันดับโดยรวมในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ: สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (3), ซาอุดีอาระเบีย (6), กาตาร์ (7), ตุรกี (10), โอมาน (14), บาห์เรน (15), คูเวต (17), จอร์แดน (19), โมร็อกโก (20), อียิปต์ (21), อิหร่าน (30), เลบานอน (35), ตูนิเซีย (36), แอลจีเรีย (37), ลิเบีย (50)
-การจัดอันดับในกลุ่มประเทศเอเชีย: จีน (1), อินเดีย (2), มาเลเซีย (4), อินโดนีเซีย (5), ไทย (8), เวียดนาม (11), ฟิลิปปินส์ (18), คาซัคสถาน (22), ปากีสถาน (27), ศรีลังกา (33), บังกลาเทศ (39), กัมพูชา (40), เมียนมาร์ (49)
-การจัดอันดับดัชนีโดยรวมในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา: เม็กซิโก (9), ชิลี (12), บราซิล (16), อุรุกวัย (23), โคลอมเบีย (25), เปรู (26), อาร์เจนตินา (31), เอกวาดอร์ (38), ปารากวัย (41), โบลิเวีย (44), เวเนซุเอลา (48)
-การจัดอันดับดัชนีสำหรับกลุ่มประเทศแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา: แอฟริกาใต้ (24), เคนยา (28), กานา (32), ไนจีเรีย (34), แทนซาเนีย (42), ยูกันดา (43), เอธิโอเปีย (45), โมซัมบิก (46), แองโกลา (47)