สำหรับวันผู้พิทักษ์ป่าโลก หรือ World Ranger Day ตรงกับวันที่ 31 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันที่เราทุกคนระลึกถึงผู้พิทักษ์ป่า ที่อุทิศตนทำงานอย่างเสียสละในการดูแลปกป้องผืนป่าสัตว์ป่า จนบางครั้งอาจได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตลง ขณะปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อแสดงความยินดีร่วมกับผู้พิทักษ์ป่าที่สามารถยืนหยัดปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมของโลกไว้ได้
โดยที่มาของวันผู้พิทักษ์ป่าโลกเริ่มต้นขึ้นจากการประชุม World Congress Ranger ปี 2006 ที่สกอตแลนด์ ผู้เข้าร่วมประชุมจาก International Federation Ranger (IRF) หรือสมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ผู้เป็นกำลังสำคัญในการทำหน้าที่ปกป้องพื้นที่คุ้มครองของโลก ได้ลงมติให้วันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี (เริ่มต้นในปี 2007) เป็นวันผู้พิทักษ์ป่าโลก ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในวาระครบรอบปีที่ 15 ของการก่อตั้ง IRF (วันที่ 31 กรกฎาคม 1992)
“เราไม่สามารถนำพวกเขาเหล่านั้นกลับมาได้ แต่เราสามารถแสดงความเคารพและไม่ลืมเลือนความเสียสละของพวกเขา” คือคำกล่าวจากสมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศ อันเป็นปฐมบทของวันผู้พิทักษ์ป่าโลก
ดังนั้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอร่วมระลึกถึงการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า และเป็นกำลังใจให้ผู้พิทักษ์ป่า กลุ่มคนผู้เป็นเเนวหน้าในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า ให้กับพวกเราคนไทยทุกคนและจะยังคงมุ่งมั่นที่สนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ในรูปแบบต่างๆ พร้อมผลักดันงานด้านสวัสดิภาพเเละ สวัสดิการให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งนอกจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเเล้ว ยังมีเครือข่าย กลุ่ม องค์กรอนุรักษ์จากภาคส่วนต่างๆ ที่ยังคงให้ความสำคัญ เเละสนับสนุนผู้พิทักษ์ป่าอยู่เสมอมา โดยช่วงที่ผ่านมาได้เราได้รวบรวมข้อความถึงผู้พิทักษ์ป่าบางส่วน และทยอยเผยเเพร่ไปแล้วทั้งช่องทางเฟซบุ๊กสมาคมผู้พิทักษ์ป่า เเละเฟซบุ๊กมูลนิธิสืบนาคะเสถียร“เนื่องในวันผู้พิทักษ์ป่าโลก วันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ขอให้เราร่วมระลึกถึงผู้พิทักษ์ป่าที่บาดเจ็บเเละเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ออกลาดตระเวน ดูเเลรักษาผืนป่าเเละสัตว์ป่าให้อยู่คู่โลกมายาวนาน ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ปราบปรามผู้กระทำผิด ที่เเสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน จัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม เเละสัตว์ป่า ดับไฟป่า ตลอดจนค้นหาเเละช่วยเหลือผู้ประสบภัย เเละงานอื่นๆ อีกมากมาย
และเมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับฟังสรุปผลการลาดตระเวนป่าเชิงคุณภาพ Smart Patrol จากหัวหน้าชุดทีมเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า 5 ทีม หลังจากออกลาดตระเวนป่า ตั้งแต่วันที 30 กรกฎาคม 2565 ใน 5 เส้นทาง เพื่อสำรวจความสมบูรณ์ของผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และการลักลอบกระทำผิดเกี่ยวกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ
โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมเดินลาดตระเวนป่าเชิงคุณภาพกับชุดลาดตระเวนป่าเฉพาะกิจ เส้นทาง ดงงูเห่า-บึงไผ่-กม.33 รวมระยะทาง 5.7 กิโลเมตร พร้อมพักค้างแรมในป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ 1 คืน เพื่อสัมผัสความเป็นอยู่และความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เนื่องในวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) 31 กรกฎาคม 2565
นายวราวุธ เผยว่า การออกลาดตระเวนพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้มีการแบ่งชุดลาดตระเวนออกเป็น 5 ชุด ได้แก่ เส้นทาง ดงงูเห่า-บึงไผ่-กม.33 เส้นทาง ศูนย์นวัตกรรม-มอสิงโต เส้นทาง ป่าโป่งเครื่องบิน-ศูนย์บริการฯ เส้นทาง ป่าทุ่งเขาเขียว-ผาตะแบก และ เส้นทาง เขาเขียว-ลำตะคอง เพื่อดูแลปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสัตว์ป่าในเขตพื้นที่ ด้วยการนำระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ Smart Patrol มาใช้ในการวิจัย เก็บข้อมูล ทำพิกัดในจุดต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในประเทศไทย ซึ่งการลงพื้นที่ลาดตระเวนในครั้งนี้ มีการเก็บร่องรอยสัตว์บนเส้นทางหากินของช้าง หมี และกระทิง และตรวจสอบภัยคุกคามต่าง ๆ ทำให้เข้าใจถึงความยากลำบากในการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่ต้องพร้อมทั้งอุปกรณ์ ร่างกาย และจิตใจ จึงได้สั่งการให้มีการดูแลเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากว่า 20,000 นาย ทั้งที่ปฏิบัติภารกิจทางบกและทางทะเล ให้ได้รับค่าตอบแทนหรือสวัสดิการที่จะช่วยเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มกำลังความสามารถและมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น