จากข่าวของกรุงเทพธุรกิจ
โรงแรมหวั่น “ต่างชาติเที่ยวไทย” น้อยกว่าคาด เผชิญเงินเฟ้อกดดันกำลังซื้อ
สมาคมโรงแรมไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นที่พักแรม เดือน ส.ค.65 ผู้ประกอบการโรงแรมหวั่น "ต่างชาติเที่ยวไทย" น้อยกว่าคาด ท่ามกลางความกังวลเรื่องปัญหาเงินเฟ้อสูงกดดันกำลังซื้อ ด้านอัตราการเข้าพักของโรงแรมปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้และภาคตะวันออก
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน ส.ค.2565 จากผู้ประกอบการที่พักแรม 106 แห่ง ระหว่างวันที่ 8-24 ส.ค.2565 จัดทำโดยสมาคมฯกับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการสอบถามประเด็นพิเศษ เกี่ยวกับเรื่อง “ความกังวลของธุรกิจโรงแรมต่อประเด็นต่างๆ ในระยะข้างหน้า” โรงแรมมองว่ายังมีหลายประเด็นที่อาจกระทบการฟื้นตัวของธุรกิจในระยะข้างหน้า โดย
62% มองว่าปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกดดันกำลังซื้อ และ 61% กังวลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาน้อยกว่าคาด เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวลมากที่สุด
รองลงมาคือการขาดแคลนแรงงาน 43% การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจกระทบกิจกรรมนอกบ้านให้ลดลง 40%
ธุรกิจเกี่ยวเนื่องยังไม่กลับมาเปิดเต็มที่ 19% แนวโน้มค่าเงินบาท 18% แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศ 16%
ปัจจัยสนับสนุนการเดินทางหลังรัฐบาลเปิดประเทศเต็มรูปแบบ เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามนโยบายการคลัง อนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบธุรกิจไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) เพื่อกระตุ้นการจัดกิจกรรมไมซ์ภายในประเทศ
การขยายระยะเวลาพำนักในไทยให้กับชาวต่างชาติจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า ให้อยู่ในไทยได้นานขึ้นจากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน และขยายเวลาให้กับผู้ที่มาขอวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival: VoA) จากไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 - 31 มี.ค.2566
วีซ่าประเภทใหม่ “Long-Term Resident Visa: LTR Visa” ที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ย.2565 ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดให้เข้ามาตั้งฐานธุรกิจในประเทศ
นอกจากนี้ ธุรกิจเชื่อมโยงอื่นๆ เช่น สายการบิน มีการเปิดเที่ยวบินใหม่ และกลับมาเปิดเที่ยวบินที่เคยระงับทำการบินในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะเส้นทางบินที่มาจากภูมิภาคอาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียใต้
โรงแรมร้านค้าในสนามบินทั้ง ดิวตี้ฟรียักษ์ใหญ่หรือ แม้กระทั่ง ร้านเล็กๆในสนามบิน ต่างแบกภาระต้นทุนตามระยะเวลาที่ปิด
“แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง แต่ยังคงมีประเด็นสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ คือปัญหาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าและพลังงาน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในมุมมองของผู้ประกอบการมีผลต่อต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นและกระทบต่อกำไรในช่วงที่ธุรกิจกำลังฟื้นตัว รวมถึงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจโรงแรมก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม”
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1025429