พระองค์ใช้หลักการทางธรรมชาติแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก โดยการใช้น้ำคุณภาพดีมาช่วยขับไล่น้ำเสียออกไป อย่างเช่นการรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่งเข้าไปตามคลองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ และคลองบางลำภู เป็นต้น โดยกระแสน้ำจะไหลไปตามคลองเล็กคลองน้อยที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้าน ดังนั้นเมื่อทำการปล่อยน้ำให้ไหลเวียนจากปากคลองไปปลายคลองได้อย่างเหมาะสม ย่อมจะช่วยเจือจางน้ำเน่าเสียได้มากโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง (สำนักงาน กปร., 2540: 101)
นอกจากทฤษฎีน้ำดีไล่น้ำเสียแล้วทรงมีพระราชดำริให้ทดลองศึกษาวิจัยดูว่า มีปลาบางชนิดสามารถกำจัดน้ำเสียได้หรือไม่ เพราะปลางเหล่านี้น่าจะเข้าไปกินสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำเสีย ซึ่งปรากฏว่ามีปลาบางชนิดที่มีอวัยวะพิเศษในการหายใจ มีคุณสมบัติเหมาะแก่การเลี้ยงในน้ำเสีย เช่น ปลากระดี่ ปลาสลิดที่ชอบกินสารอินทรีย์จึงช่วยลดมลภาวะทางน้ำ ต้นทุนต่ำ แถมยังเพิ่มผลผลิตทางสัตว์น้ำได้อีกทางด้วย