ป.ป.ช.” ประกาศจุดยืนร่าง “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ชี้กระทบ-สร้างความเสียหายต่อคดี “คตส.” ไต่สวนและส่งฟ้องศาลรวม 25,331 เรื่อง เตรียมส่งความเห็น “วุฒิสภา” พร้อมยื่นหนังสือถึง “UN” 6 พ.ย.
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. และนายธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.ร่วมกันแถลงข่าวถึงท่าทีของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 3 และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา
นายวิชาแถลงว่า จากกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ 310 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียงต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... นั้น ปรากฏว่าในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ระบุหลักการนิรโทษกรรมไว้ในมาตรา 3 ว่า "ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง 2547 จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะกระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้กระทำพ้นจากความผิดและรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง" นั้น
กรณีดังกล่าวทำให้มีประเด็นปัญหาที่กระทบต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและธรรมาภิบาล การเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต และการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติ (The United Nations Convention against Corruption หรือ UNCAC2003) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554
ดังนั้น ป.ป.ช.ในฐานะองค์กรซึ่งมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2554 มาตรา 19 (10) (13) และ (14) จึงเห็นควรให้มีข้อเสนอแนะต่อวุฒิสภาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวพร้อมทั้งยังได้มีมติให้แจ้งต่อสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เพื่อแสดงเจตจำนงในการปฏิเสธการนิรโทษกรรมความผิดฐานทุจริตและคอร์รัปชั่นด้วย
สำหรับเนื้อหาของข้อเสนอแนะที่เตรียมเสนอไปยัง 2 หน่วยงานมีเนื้อหา ดังนี้ 1.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตรา 3 และมาตรา 4 มีผลกระทบต่อเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ดำเนินการไต่สวนและส่งฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจแล้ว และเรื่องกล่าวหาที่ คตส.ส่งมอบสำนวนให้ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ 24 เรื่อง รวมทั้งเรื่องกล่าวหาที่ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนตามอำนาจหน้าที่ 25,331 เรื่อง เป็นเรื่องที่กล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง 400 เรื่อง และเรื่องที่กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป 24,931 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 666 เรื่อง เป็นเรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตจะเป็นอันต้องระงับสิ้นไป และเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิงตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้
2.ประเทศไทยได้ยินยอมเข้าผูกพันเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 (UNCAC) ซึ่งหลักการของอนุสัญญาดังกล่าวได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดจากการทุจริตที่มีผลต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของสังคม เป็นบ่อนทำลายสถาบันและหลักของระบอบประชาธิปไตย คุณค่าทางจริยธรรม ความยุติธรรมและเป็นอันตรายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของหลักนิติรัฐ ซึ่งหมายถึงประเทศไทยยินยอมจำกัดอำนาจอธิปไตยบางส่วน เข้าผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าว
ดังนั้น หากประเทศไทยจะออกกฎหมายล้มล้างคดีทุจริตจะเป็นการขัดต่อหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างถูกประเมินและติดตามผลการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาดังกล่าวอยู่ด้วย
ขณะที่นายภักดีกล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญา UNCAC มาตั้งแต่มีนาคม 2554 เพราะฉะนั้นประเทศไทยมีหน้าที่กำหนดให้เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นความผิดทางอาญาและต้องปราบปรามอย่างจริงจัง และในฐานะรัฐภาคีประเทศไทยต้องกำหนดยุทธศาสตร์และแผนการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องให้ความร่วมมือในการดำเนินการป้องกันและปรามปราบการทุจริตด้วย เพราะฉะนั้นความพยายามในการออกกฎหมายเพื่อลบล้างความผิดที่เกี่ยวกับการทุจริตและคอร์รัปชั่นนั้น ถือว่าเป็นการขัดกันกับอนุสัญญาอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้น ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2554 มาตรา 19 (14) กำหนดไว้ชัดเจนว่าให้ ป.ป.ช.เป็นศูนย์กลางในการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามพันธกรณีครอบคลุมระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้น ป.ป.ช.จึงเห็นว่าควรที่จะมีการแจ้งให้กับทาง UNODC ได้รับทราบ โดยในวันที่ 6 พฤศจิกายน เวลา 09.30 น. ตนจะไปมอบเนื้อหาและรายละเอียดดังกล่าวกับทางเจ้าหน้าที่ของ UNODC เพื่อส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของทาง UNODC ให้รับทราบต่อไป
"ป.ป.ช.เห็นควรที่จะแจ้งให้สำนักงานใหญ่ของทาง UNODC ได้รับทราบและแจ้งให้สมาชิกรัฐภาคีอีก 167 ประเทศ ได้รับทราบเช่นกันว่าประเทศไทยกำลังพยายามออกกฎหมายที่อาจจะขัดกับหลักการข้อตกลงของอนุสัญญาดังกล่าว" นายภักดีระบุ
-------------------------------------------------
หัดใช้สมองคิดเองบ้างนะ รับแต่ใบสั่ง ทำตามใบสั่งแบบบื้อๆ แต่ละคนในพรรคนี้300 กว่าคน คิดไม่เป็นเลยเหรอไง ฉาวไปทั่วโลกแล้ว