อุตสาหกรรมฟาร์มปลาแซลมอนแนะผู้ผลิตมุ่งเน้นความยั่งยืนมากกว่าการแข่งขัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่สูงเป็นประวัติการณ์
ณ งานมหกรรมอาหารทะเล Seafood Expo North America ในเมืองบอสตัน โครงการ Global Salmon Initiative (GSI) ร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) องค์การอาหารและการเกษตร (FAO) แห่งสหประชาชาติ (UN) และ Rabobank จะรวมพลังเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงให้เห็นถึงบทบาทของอุตสาหกรรมฟาร์มแซลมอนทั่วโลกในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่อนาคตอันยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรม
สามารถรับชมสื่อประขาสัมพันธ์แบบมัลติมีเดียได้ที่:
http://www.multivu.com/mnr/65032-global-farmed-salmon-industry
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้บริโภคแซลมอนเลี้ยงรายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยปริมาณกว่า 282,000 ตันในปี 2556 โดยความต้องการแซลมอนเลี้ยงของผู้บริโภคในสหรัฐนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 14% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง ยิ่งไปกว่านั้น ความต้องการแซลมอนเลี้ยงทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าอีกครั้งภายในปี 2563
การสัมมนา Pathways to Sustainability Seminar มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าความร่วมมือระหว่างสมาชิกในอุตสาหกรรมอาหารทะเลสามารถนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นแม่แบบสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆได้อย่างไร โดยผู้นำธุรกิจจำนวนมากเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินธุรกิจในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญจะเป็นหนทางเดียวที่ช่วยให้อุตสาหกรรมบรรลุศักยภาพของตลาดและตอบสนองความต้องการปลาแซลมอนจากผู้บริโภคทั่วโลกในอนาคต ทั้งนี้ การประชุมผู้บริหาร GSI ในเมืองบอสตัน ร่วมกับบรรดาผู้นำเพื่อความยั่งยืนทั่วโลก ได้ประกาศพันธสัญญาในการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากกว่าการแข่งขัน เพื่อดำเนินแม่แบบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จของอุตสาหกรรม
“นับเป็นโอกาสอันหาได้ยากยิ่งที่ซีอีโอของบริษัทต่างๆ ซึ่งปกติแล้วแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด จะหันหน้ามาร่วมมือกันเพื่อจัดการกับความท้าทายต่างๆเกี่ยวกับความยั่งยืน” นายเจสัน เคลย์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเปลี่ยนทิศทางตลาดของ WWF กล่าว “ความร่วมมืออย่างกล้าหาญในภาคอุตสาหกรรมฟาร์มปลาแซลมอนถือเป็นสิ่งจำเป็นในภาคอุตสาหกรรมอาหารทุกประเภท หากเราหวังว่าจะผลิตอาหารป้อนให้แก่ประชากรเก้าพันล้านคนได้ ในขณะที่ยังคงดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ”
ระหว่างการสัมมนาในวันที่ 18 มีนาคม บรรดาผู้นำจาก GSI และคณะผู้เชี่ยวชาญจะทบทวนผลการดำเนินงานเบื้องต้นของแม่แบบความร่วมมือ GSI และหารือถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดทางออกที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมสำหรับความต้องการอาหารโปรตีนสูงที่กำลังขยายตัวทั่วโลก
GSI ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และมุ่งความสนใจไปที่ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ
Jeroen Leffelaar หัวหน้าฝ่าย Global Animal Protein ของ Rabobank กล่าวว่า “บริษัทต่างๆที่มีบทบาทใน GSI เล็งเห็นว่า หลักความยั่งยืนนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ และด้วยความมุ่งมั่นต่อสาธารณชนเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในอุตสาหกรรม กลุ่มบริษัทเหล่านี้กำลังร่วมไม้ร่วมมือกันเพื่อยกหลักความยั่งยืนเป็นตัวขับเคลื่อนกลยุทธ์สู่ความสำเร็จในระยะยาว”
GSI ได้คัดเลือกขอบข่ายการดำเนินงานสำคัญในสามส่วนด้วยกัน ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนการดำเนินงานตามแม่แบบสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ดังนี้:
- เพื่อให้ทุกบริษัทที่เป็นสมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐานแซลมอนจาก Aquaculture Stewardship Council (ASC) ภายในปี 2563 โดยในปัจจุบัน สมาชิก GSI มีฟาร์มแซลมอนที่ได้รับการรับรองคุณภาพแล้วจำนวนสามแห่ง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จของแม่แบบนี้
- ให้ความสนใจกับการรักษาความมั่นคงทางชีวภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่การจัดการโรคและเหาทะเลเป็นหลัก ซึ่งบริษัทที่เป็นสมาชิกต่างแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการที่ดีขึ้น
- ร่วมงานกับหุ้นส่วนอุตสาหกรรมในการสร้างความยั่งยืนด้านแหล่งอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น
“ในฐานะที่เป็นบริษัทที่มีความเป็นเอกเทศ เราสามารถทำงานหนักเท่าที่ต้องการเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของเราให้สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยธรรมชาติของธุรกิจนี้ เราจึงได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของเพื่อนบ้านและบริษัทในภาคอุตสาหกรรมเดียวกันเป็นเรื่องปกติ” Jon Hindar ประธานร่วมของ GSI และซีอีโอของ Cermaq กล่าว “ดังนั้นเมื่อเราหันเหความสนใจไปที่ความร่วมมือและการประสานงานกัน เราจึงได้เห็นความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในระดับที่กว้างกว่าเดิมมาก และในอัตราที่รวดเร็วขึ้นมาก”