เชื่อหรือไม่ว่าเทคโนโลยีและการออกแบบช่วยให้บ้านเดิมๆ กลายเป็นบ้านประหยัดพลังงานที่น่าอยู่และรักษ์โลกได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือบ้านซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลียหลังนี้

ผู้ออก
แบบบ้านหลังนี้คือ Riddel Architecture team โดย David Gole และ Emma Scragg สถาปนิกชาวออสเตรเลียตัดสินใจรื้อถอนบ้านเดิมซึ่งมีอายุกว่า 90 ปีออก โดยเหลือเพียงโครงสร้างหลักซึ่งเหลือไม่ถึง 50 % แล้วนำวัสดุของบ้านเดินนั้นกลับมาใช้ใหม่ (Reuse), รีไซเคิล (Recycle) เพื่อกลับมาเป็นวัสดุสำหรับสร้างบ้านใหม่อีกครั้ง โดยวัสดุกว่า 80 % ของบ้านเดิมถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า
เพราะประเทศออสเตรเลียนั้นมีสภาพอากาศทั้งร้อนและหนาวเย็นในหนึ่งปี บ้านจึงต้องมีระบบที่ทั้งสร้างความอบอุ่นและป้องกันความร้อนที่ดี โดยบ้านหลังนี้ได้รางวัลด้านการประหยัดพลังงานดีเด่น เพราะนอกจากจะใช้วัสดุในการก่อสร้างที่ทำลายทรัพยากรน้อยแล้ว ยังมีระบบโซลาร์เซลล์ติดตั้งบนหลังคาด้านที่หันสู่ทางทิศเหนือ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 15 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถนำกลับมาใช้งานในบ้าน กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ต้องการไฟมากเช่น หลอดไฟบางห้อง ไฟฟ้าสำหรับชาร์ตแบตเตอร์รี่ เป็นต้น และแยกแผงโซลาร์เซลล์อีกชุดหนึ่งเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับเครื่องทำความร้อน (Heater) สำหรับฤดูหนาวอีกด้วย
ผนังบ้านเดิมนั้นเป็นไม้ซึ่งอาจจะป้องกันความร้อนได้ไม่ดีนัก เมื่อออกแบบบ้านใหม่ เจ้าของบ้านและสถาปนิกก็ไม่ลืมที่จะเพิ่มคุณสมบัติให้ผนังนั้นสามารถกันความร้อนได้ดีขึ้น โดยการทำเป็นผนังเบา มีโครงเป็นเหล็กและภายในติดตั้งฉนวนกันความร้อน โดยฉนวนที่ใช้นั้นเป็น Recycled polyester หรือเศษพลาสติกประเภทโพลีเอสเตอร์ที่เหลือจากการใช้งานแล้ว นำมาผ่านเทคโนโลยีในการอัดเป็นแผ่นเพื่อให้มีขนาดเหมาะสำหรับการกรุผนัง จากนั้นค่อยกรุวัสดุปิดผนังทับ ทั้งได้บ้านเย็นและได้ช่วยโลกด้วยในคราวเดียว

ซ้าย: กระจกบานเกร็ดชิ้นเล็กๆ นำมาจัดเรียงใหม่กลายเป็นหน้าต่างที่ดูแปลกตา
ขวา: มือจับประตูที่ทำจากไม้ของบ้านเก่า
(ที่มาภาพ: www.hillendeco.blogspot.com)
แต่ในขณะเดียวกัน สถาปนิกก็ใช้แสงแดดที่มาพร้อมกับความสว่างไสวนั้น เป็นตัวที่ทำให้บ้านประหยัดพลังงานหลังนี้น่าอยู่ ปลอดภัยโดยไม่ต้องใช้แสงจากไฟประดิษฐ์หรือหลอดไฟ โดยการออกแบบช่องแสงที่ใต้หลังคา ให้สามารถรับความสว่างเข้ามาแต่รับความร้อนน้อยที่สุด อีกทั้งยังเป็นช่องแสงที่เปิดปิดได้ ช่วยให้บ้านสามารถระบายอากาศได้สะดวกและไม่ร้อน
เมื่อเข้าหน้าฝน บ้านหลังนี้ไม่ได้ใช้น้ำประปาเพื่อรดน้ำต้นไม้หรือความสะอาดภายในบ้าน เพราะมีแทงค์น้ำขนาดใหญ่ที่กักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ อีกทั้งยังมีระบบหมุนเวียนน้ำที่ไม่สกปรกมากหรือที่เรียกว่า Grey Water กลับมาใช้ใหม่ เช่นน้ำจากการล้างผักผลไม้ ล้างมือ เป็นต้น
คิดจะสร้างบ้านสักหลัง ใส่ใจเรื่องเทคโนโลยีและพลังงานสักนิด แล้วบ้านของเราจะน่าอยู่แบบยั่งยืนไปตราบนานเท่านาน
สาระประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย เรื่องบ้านจากผู้เชียวชาญ ค่อยให้ความรู้และคำแนะนำ ได้ที่นี่ http://goo.gl/4Vrdeu
Cr. scgexperience.co.th
www.dezeen.com
www.hillendeco.blogspot.com