ผ่าวิธีคิดค่าเสียหายจำนำข้าว เมตตานักการเมืองสุดๆ แล้ว...!!!
บริวารของฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ บอกต่อๆ กัน ว่าการคิดค่าเสียหายโครงการจำนำข้าวนั้น ไม่ยุติธรรม
อ้างแค่ตัวอักษรคำเดียวในเอกสารที่มีคำว่า “ประเด็นยุติธรรม”
แต่ไม่มีใครสักคน ไปดูข้อเท็จจริงว่า วิธีคิดคำนวณค่าเสียหายนั้น เขาคิดคำนวณมาอย่างไร?
ตัวเลขค่าเสียหาย 2.8 แสนล้านบาท มีที่มาของการ
คิดอย่างไร?
บริวารส่วนใหญ่ ไม่รู้เลย ได้แต่พูดตามๆ กัน
น่าสังเวชแท้ๆ
1) ความจริงในวันนี้... หนี้คงค้างจำนำข้าว
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนัก
งานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หนี้จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ช่วงต้นปีอยู่ที่ 5.1 แสนล้านบาท
ปัจจุบัน เหลือประมาณ 4.8 แสนล้านบาท!
เป็นผลมาจากการระบายข้าวในยุคนี้ เร่งประมูลขายข้าว นำเงินมาใช้หนี้ ธ.ก.ส.
หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถลดหนี้ให้ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ได้เลย เพราะไม่มีการเร่งดำเนินการขายข้าวเหมือนยุคปัจจุบัน แล้วที่ขายในยุคโน้นส่วนใหญ่ก็อ้างว่าจีทูจี ขายราคาต่ำกว่าตลาดบานเบอะ แต่ไม่ปรากฏการส่งออกข้าวไปให้รัฐบาลต่างชาติ
สบน.ประเมินด้วยว่า หากระบายข้าวที่เหลือทั้งหมดมาใช้หนี้ ก็ยังมีหนี้ค้างเหลืออีกถึง 4.5 แสนล้านบาท
เพราะข้าวที่เหลือส่วนใหญ่ เป็นข้าวที่เสื่อมคุณภาพ ต้องขายในเชิงพาณิชย์นำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ หรือขายในเชิงอุตสาหกรรมไปผลิตเป็นเอทานอล ซึ่งจะได้ราคาต่ำมาก
ปัจจุบัน สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณสำหรับชำระหนี้จำนำข้าว ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ปีละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ต่อไปจะต้องใช้เวลาอีก 9 ปี ถึงจะชำระหนี้ได้หมด
ย้ำ... นี่คือภาระหนี้ที่ยังคงค้างอยู่ ภายหลังจากรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาช่วยทยอยใช้หนี้ไปแล้ว
ผลขาดทุนของโครงการจำนำข้าว มีมูลค่ามหาศาลกว่านั้น
ถามว่า ถ้าประเทศไม่ต้องใช้หนี้ก้อนนี้ รัฐบาลสามารถจะนำเงินไปช่วยชาวนา ช่วยเกษตรกรทั่วประเทศ ช่วยคนยากจน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ชลประทาน ถนน หนทาง รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ ฯลฯ มากมายขนาดไหน
2) ผ่าวิธีคิดค่าเสียหาย
นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดจากโครงการ
รับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อธิบายวิธีคิดคำนวณค่าเสียหาย
ระบุว่า ใช้ตัวเลขต้นทุนทั้งหมด 6 แสนกว่าล้านบาท แล้วได้ให้ความเป็นธรรม คือ
นำตัวเลขรายได้การระบายข้าวจำนวน 1.8 แสนล้านบาท หักออกไปก่อน แล้วยังหักส่วนอื่นๆ ออกไปอีก
1.ชาวนาได้รับประโยชน์จากโครงการมูลค่าเท่าใด ได้หักออกไป โดยดูว่าราคาข้าวในท้องตลาดขณะนั้นมีราคาเท่าไร คิดที่ราคา 8-9 พันบาทต่อตันข้าวเปลือก แต่ปรากฏว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปรับจำนำ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ส่วนต่างตรงนี้ถือว่าประชาชนได้รับประโยชน์ คิดได้ประมาณ 1.77 แสนล้านบาท ตัวเลขนี้ได้หักออกไปก่อน
ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริง ไม่มีชาวนาสักรายเลยที่จะได้เงินค่าข้าวจริงๆ ถึงตันละ 15,000 บาท แต่คณะกรรมการยังอุตส่าห์
คิดเสมือนว่าชาวนาทุกคนได้เงินค่าข้าว 15,000 บาทต่อตัน
2.ค่าใช้จ่ายของหน่วยงานรัฐ ในการดำเนินโครงการ ประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ตัวเลขนี้ถูกหักออกไป
ทั้งๆ ที่ ค่าใช้จ่ายดังกล่าว เกิดขึ้นจริง เป็นภาระจริง ซึ่งถ้าช่วยชาวนาโดยวิธีอื่น โดยไม่ต้องไปซื้อข้าวมาเก็บเข้าโกดัง ค่าใช้จ่ายก็จะไม่สูงขนาดนี้แน่นอน แต่คณะกรรมการก็อุตส่าห์ช่วยหักออกไปแล้ว
3. ดอกเบี้ยจำนวน 3 หมื่นกว่าล้านบาท ได้ถูกหักออกไปอีก
ทั้งๆ ที่ ดอกเบี้ยนั้นเกิดขึ้นจริง จากการกำหนดนโยบายนี้
สุดท้าย ยอดความเสียหายจึงปรากฏอยู่ที่ 2.86 แสนล้านบาท!
3) จะเห็นว่า วิธีคิดค่าเสียหายข้างต้นนั้น ยังนับว่าเมตตานักการเมืองผู้ใช้อำนาจกำหนดนโยบายจำนำข้าวอย่างที่สุดแล้ว ทั้งๆ ที่สามารถจะหาวิธีเยียวยา แก้ไข ดำเนินการช่วยเหลือชาวนาในแบบอื่นๆ ที่จะทำให้ชาวนาได้ผลประโยชน์โดยตรงมากกว่านี้ แต่ก็ไม่ทำ
ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดการระบายข้าวแบบจีทูจีที่สร้างความเสียหายมหาศาล ก็ยังไม่ระงับยับยั้ง
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ระบุว่า โครงการจำนำข้าว เฉพาะยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ คำนวณถึงเดือนพฤษภาคม 2557 พบว่า ยอดขาดทุนจะสูงถึง 5.42 แสนล้านบาท
นี่คือตีราคาข้าวที่เหลืออยู่จริงในโกดัง 17.28 ล้านตัน ประเมินให้ราคาตลาด ณ วันที่ 22 พ.ค.2557 รวมกับเงินที่ได้จากการขายข้าวก่อนหน้านั้นแล้ว คำนวณผลขาดทุนจะได้ตัวเลขดังกล่าว ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ข้าวในโกดังมีแต่จะราคาลดลง เสื่อมค่าไปเรื่อยๆ ผลขาดทุนจริงๆ ก็มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ 2 ปี ของการทำโครงการ ช่วยให้ชาวนาขายข้าวได้เงินมากกว่าปกติ 1.77 แสนล้านบาท
เท่ากับว่า เงินที่ชาวนาควรจะได้รับสูญหายไปมากกว่า 3 แสนล้านบาท!
แทนที่จะอ้างความเป็นธรรมให้นักการเมือง ทำไมไม่คิดจะทวงความเป็นธรรมแก่ประเทศชาติ
สารส้ม
"จำนำข้าว" โกงไม่โกง มาดูกัน!
https://www.youtube.com/watch?v=HV8m9T1pzA8