แถลงข่าวการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านยาเสพติด ครั้งที่ ๓๗
วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๙
ณ โรงแรมรอยัลออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านยาเสพติด หรือการประชุม ASOD (ASEAN Senior Officials on Drug Matters ) จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมาตรการสำคัญ ๕ มาตรการ ได้แก่ การปราบปราม การป้องกัน การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ การวิจัย และการพัฒนาทางเลือก โดยประเทศสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ
เรียงตามลำดับตัวอักษร ซึ่งในปี ๒๕๕๙ นี้ ประเทศไทยถึงวาระที่ได้รับเกียรติจัดการประชุม เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านยาเสพติดครั้งที่ ๓๗ ขึ้น กระทรวงยุติธรรม โดยสำนัก
งาน ป.ป.ส.จึง กำหนดเป็นระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ โรงแรมรอยัลออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพมหานคร
ในวันแรกของการประชุม วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ พลเอก ไพบูลย์
คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของไทยให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมฯ ทั้งนี้ ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือกันในกรอบอาเซียน ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งยังคงเป็นแหล่งลักลอบผลิตยาเสพติดที่สำคัญหนึ่งในสามของโลก และอยู่ในภูมิภาคอาเซียน มากขึ้น โดยกล่าวว่า ไม่มีประเทศใดจะปลอดภัยจากปัญหายาเสพติดได้ ตราบใดที่ปัญหาในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น รวมถึง องค์กรและกลุ่มประเทศผู้ให้อื่นๆ ให้การสนับสนุนความพยายาม และโครงการที่มุ่งเน้นการดำเนินงานร่วมกันในระดับปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ
ในระหว่างการประชุมเต็มคณะของเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ ในวันแรก ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รายงาน และแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ยาเสพติดในมิติต่างๆ ซึ่งมีความหลากหลาย โดยทุกประเทศเห็นพ้องถึงความสำคัญของการพิจารณาแผนปฏิบัติการอาเซียน ๑๐ ปี รวมถึงการกำหนดนโยบาย
และยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เพื่อรองรับและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้และที่จะมีต่อไป
ในอนาคต ทั้งนี้ได้กำหนดให้มี ๗ หมวดหลัก ได้แก่
(๑) หลักการทั่วไป
(๒) ด้านการป้องกันยาเสพติด
(๓) ด้านการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
(๔) ด้านการปราบปรามยาเสพติด
(๕) ด้านการวิจัย
(๖) ด้านการพัฒนาทางเลือก
(๗) ด้านความร่วมมือกับภูมิภาคอื่นๆ
ในช่วงสองวันที่ผ่านมา ในการประชุมเต็มคณะ ที่ประชุมได้รับฟังการรายงานความคืบหน้าของกลไกย่อยต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่และเพิ่งดำเนินการเสร็จสิ้นไป ในมาตรการต่างๆ ซึ่งประเทศอาเซียนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ อาทิ โครงการสกัดกั้นยาเสพติด ณ ท่าอากาศยานสากล โครงการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดอาเซียน ภายใต้การสนับสนุนของไทย ในโครงการ ASEAN-NARCO เพื่อสนับสนุนให้มีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและทิศทางสถานการณ์ยาเสพติดของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยทีมคณะทำงานของประเทศอาเซียนและเครือข่ายนักวิชาการ เพื่อเครือข่ายเฝ้าระวังยาเสพติด และใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายยาเสพติด ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าด้วยดี และมีการทำพิธีเปิดตัวรายงานเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดเป็นครั้งแรก ในวันนี้ (๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๙) ภายหลัง
การแถลงข่าวนี้ นอกจากนี้ ยังได้รับทราบความคืบหน้า โครงการสกัดกั้นยาเสพติด ณ ท่าเรือสากลอาเซียน (ASITF) ที่ริเริ่มโดยอินโดนีเซีย และโครงการ ASEAN Integrated Narcotics Enforcement Program ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพสนับสนุนในทุกปี โครงการฝึกอบรมทักษะชีวิตเพื่อการป้องกันยาเสพติดให้แก่ผู้ดำเนินงานในภูมิภาคอาเซียน และโครงการสัมมนายึดทรัพย์ในคดียาเสพติดของอาเซียนที่ไทยเพิ่งเป็นเจ้าภาพไปเมื่อเร็วนี้ (มิถุนายน ๒๕๕๙) เป็นต้น
กลุ่มด้านบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (ประธานคือมาเลเซีย) ได้หารือถึงแนวทางการสนับสนุนทางด้านงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ระหว่างกันตามกำลังความสามารถ เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และเห็นควรมีการพัฒนามาตรฐานการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ตามแนวทางของ UNODC และ WHO พัฒนามาตรฐานของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพยาเสพติด
สุดท้าย ด้านการพัฒนาทางเลือก (ประธานคืออินโดนีเซีย) ประธานคืออินโดนีเซีย ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาพืชเสพติดระหว่างกัน ส่งเสริมสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการให้ความช่วยเหลือด้านทรัพยากรและทางวิชาการมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จ มีความชำนาญในด้านดังกล่าวได้แสดงความยินดีที่จะสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในเรื่องดังกล่าว โดยในอนาคตอันใกล้ ไทยและอินโดนีเซียจะมีความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติดร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาทางเลือก อย่างเป็นทางการภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างกัน

ในภาพรวม จนถึงขณะนี้ ถือว่าการประชุมนี้มีความคืบหน้า และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ประเทศสมาชิกได้ร่วมมือร่วมใจ ภายใต้จิตวิญญาณที่เป็นหนึ่งเดียว ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ ภายใต้คำขวัญที่เห็นพ้องกันที่ว่า “Securing ASEAN Communities Against Illicit Drugs” เราจะดำเนินการร่วมกันในการสร้างความมั่นคงให้กับประชาคมอาเซียนในการต่อสู้กับเสพติด ยืนหยัดบนแนวทางของอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านยาเสพติด ดำรงไว้ซึ่งจุดยืนร่วมกันของอาเซียนในเวทีสหประชาชาติ ทั้ง CND และ UNGASS หลักการการเคารพในอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ ในการกำหนดนโยบายด้านยาเสพติดที่เหมาะสมกับประเทศของตน ผลการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวาระสำคัญ ว่าด้วยการพิจารณาแผนปฏิบัติการอาเซียน ๑๐ ปี (ค.ศ. ๒๐๑๖-๒๕๒๕) ฉบับใหม่ที่จะวางแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกันของประเทศอาเซียน จะถูกนำไปเสนอให้ได้รับการรับรองจากการประชุมระดับนโยบาย คือการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านยาเสพติด ครั้งที่ ๕ ซึ่งสิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ ต่อไป
....................................................