หลังการพูดคุยเสร็จสิ้น อัยยวัฒน์หันไปถามผู้เป็นพ่อว่าแล้วใครจะเป็นคนดู วิชัยจึงตอบกลับมาสั้นๆ ว่า “ก็ต๊อบไง” (ชื่อเล่นของอัยยวัฒน์)
อัยยวัฒน์ และ วิชัย ศรีวัฒนประภา
แล้วภารกิจใหญ่ของอัยยวัฒน์ก็เริ่มต้นขึ้น ภาพเจ้าของทีมที่นั่งดูฟุตบอลเท่ๆ สนุกกับการซื้อนักเตะมาเสริมทัพ เป็นแค่ภาพในจินตนาการ เพราะของจริงที่อัยยวัฒน์ในวัย 25 ปี ต้องเจอคือ “โจทย์ยาก”
เขาใช้เวลาอยู่เลสเตอร์ 6 เดือนเต็มๆ เพื่อดูรายละเอียดทุกอย่าง รวมทั้งต้องบริหารงานและบริหารคนให้เข้าที่โดยเร็วที่สุด มีเป้าหมายใหญ่เป้าหมายแรกคือการพาทีมเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก
อัยยวัฒน์นำวิธีการทำงานของวิชัยมาใช้ นั่นคือให้ทุกคนในองค์กรมีวิสัยทัศน์ตรงกัน เพื่อให้การทำงานเดินหน้าไปอย่างราบรื่น เขาใช้เวลาเกือบ 1 สัปดาห์พูดคุยแบบเปิดใจกับผู้บริหารทุกระดับและพนักงานเพื่อรับฟังความคิดเห็น ปรับการทำงานของแต่ละคนให้มีบทบาทหน้าที่ชัดเจน ไม่ใช่ทำงานเช้าชามเย็นชามแบบที่หลายคนเป็นเมื่อเขาเข้าไปบริหาร
จากเรื่องคนสู่เรื่องการจัดการ แต่เดิมร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของเลสเตอร์ ซิตี้ มีขนาดเล็ก แต่ต้องรองรับแฟนบอลร่วม 30,000 คนที่มาดูฟุตบอล กว่าจะซื้อเสื้อสักตัวได้ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง
อัยยวัฒน์จึงบอกวิชัยว่าคิง เพาเวอร์ คือธุรกิจค้าปลีก ดังนั้นต้องเอาความเชี่ยวชาญดังกล่าวมาปรับใช้ ทั้งการปรับปรุงร้านให้ทันสมัย มีสินค้าเพียงพอ และจัดการเรื่องการหมุนเวียนคนภายในร้านให้รวดเร็วขึ้น
เขายังปรับโครงสร้างทีมฟุตบอล เปลี่ยนตัวผู้จัดการทีม ทุ่มเงินซื้อนักเตะมาเสริมเขี้ยวเล็บ และปรับปรุงคิง เพาเวอร์ สเตเดี้ยม ให้เป็นสนามที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว
การพลิกโฉมของเลสเตอร์ ซิตี้ ภายใต้การดูแลของเจ้าของใหม่ สร้างความไม่พอใจให้แฟนบอลจำนวนไม่น้อย คำพูดทำนองว่ามหาเศรษฐีไทยมาทำอะไรที่นี่ มาลงทุนแล้วก็ไป ไม่ถนัดเรื่องฟุตบอลแล้วยังจะมาทำ ฯลฯ ดังมาเข้าหูอัยยวัฒน์อยู่เสมอ แต่เขาก็ไม่เก็บมาคิดให้เป็นพลังงานด้านลบ ทว่ามุ่งมั่นปลุกปั้นทีมให้พร้อมสำหรับการแข่งขันมากขึ้น
อัยยวัฒน์ทุ่มเงินไป 70-80 ล้านปอนด์ พัฒนาทุกด้านของเลสเตอร์ ซิตี้ ให้ดีขึ้น แต่ผลงานของทีมกลับไม่สามารถขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกได้อย่างที่ตั้งใจ จนอัยยวัฒน์เกิดความท้อ ทั้งยังพบความเจ็บปวดในฤดูกาล 2012-2013 ที่แพ้ทีมวัตฟอร์ดในรอบเพลย์ออฟ พลาดขบวนขึ้นชั้นเป็นทีมสุดท้ายไปอย่างน่าเสียดาย
ถึงอย่างนั้น วิชัยที่เป็นคนไม่ยอมแพ้อะไรทั้งสิ้น กลับให้กำลังใจลูกชายว่าดีแล้ว ถือเป็นบทเรียนให้รู้ว่าความผิดหวังเป็นอย่างไร เพราะไม่ใช่ว่าชีวิตต้องเจอแต่ความสำเร็จทุกอย่าง
อัยยวัฒน์จึงกลับมาวางแผนใหม่ และคว้าแชมป์แชมป์เปียนชิพ ได้ในฤดูกาล 2013-2014 ก่อนจะตีตั๋วขึ้นชั้นพรีเมียร์ลีกได้ในฤดูกาลถัดมา และจบด้วยอันดับ 14
หากจะมีช่วงเวลาใดที่มหัศจรรย์ที่สุดของเลสเตอร์ ซิตี้ ช่วงเวลานั้นก็น่าจะเป็น 10 เดือนในฤดูกาล 2015-2016
ไม่มีใครคาดคิดว่าเลสเตอร์ ซิตี้ ทีมที่หลายคนปรามาสว่าเป็นทีมรองบ่อน ทีมม้านอกสายตา หรือแม้กระทั่งทีมไม้ประดับ จะทำแต้มไต่อันดับตารางพรีเมียร์ลีกสูงขึ้นเรื่อยๆ
แต่ในใจของ “เดอะ ฟ็อกซ์” ทุกคนรู้ว่าพวกเขาทำได้ และทำได้ถึงขั้นคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนั้น ประกาศนาม “เลสเตอร์ ซิตี้” ให้กึกก้องไปทั่วโลก! และอีกหนึ่งปณิธานของสโมสรที่เหล่าผู้บริหารชาวไทยให้ความสำคัญก็คือการสนับสนุนเด็กไทยให้มีโอกาสมาฝึกฟุตบอลกับเลสเตอร์เพื่อพัฒนาความสามารถ
“เราสนับสนุนเด็กไทย ให้มาฝึกฝนเรียนรู้กีฬาฟุตบอลที่อังกฤษ ทำมาได้ 2-3 รุ่นแล้ว หากทำต่อเนื่อง สัก 10-20 ปี ก็น่าจะได้บุคลากรสำหรับวงการฟุตบอลไทยสัก 200-300 คน ซึ่งคงช่วยได้เยอะ
“วิธีการคือไปดูจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ใครที่มีแวว ใครที่ตั้งใจจริง เอาเข้าจริงๆ ช้างเผือกไม่ค่อยมีหรอก ตัวเก่งๆ ก็มักติดสัญญากับสโมสรต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ต้องสร้างเอา”
หลังภารกิจบรรลุเป้าหมาย และวางระบบบริหารจัดการต่างๆ ในสโมสรให้เดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อัยยวัฒน์จึงใช้เวลาที่อังกฤษน้อยลง และกลับมาดูแลธุรกิจดิวตี้ฟรีที่เมืองไทยมากขึ้น รวมทั้งทุ่มเทให้กับ “คิง เพาเวอร์ มหานคร” ซึ่งเปิดตัว “มหานคร สกายวอล์ค” ระเบียงพื้นกระจกกลางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความสูงเหนือพื้นกว่า 300 เมตร ให้นักท่องเที่ยวได้มาตื่นตะลึงกับทัศนียภาพมุมสูงของกรุงเทพฯ ไปเมื่อปลาย พ.ศ.2561 และมีแผนจะสร้าง “Orient Express Mahanakhon Bangkok” โรงแรม Orient Express แห่งแรกของโลก ที่ได้แรงบันดาลใจจากขบวนรถไฟ Orient Express อันหรูหรา ซึ่งกำหนดจะเปิดตัวในปลาย พ.ศ.2562
เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ก่อนเปิดฤดูกาล 2019-2020 อัยยวัฒน์ เคยปรารภกับ The People ถึงแผนธุรกิจที่จะจำหน่ายตั๋วนักเตะในสังกัด อย่าง แฮร์รี แมคไกวร์ ออกไป เขากล่าวด้วยน้ำเสียงมั่นใจว่า
“ผมบอกกับแมคไกวร์ ‘ไอจะขายยูนะ แต่จะต้องเป็นในราคา world records เท่านั้น’ ซึ่งตอนนี้ มีผู้บริหารทีมทั้งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ให้ความสนใจแมคไกวร์อยู่แล้ว กำลังเจรจากันอยู่ ดู ๆ ไป ผมคิดว่าแมนฯ ยูฯ ต้องการตัวแมคไกวร์มากกว่า แต่ถ้าเลือกได้ ตัวแมคไกวร์คงไม่อยากไปนัก เขาคงลุ้นให้เป็นแมนฯ ซิฯ…”
แฮร์รี่ แมคไกวร์
เมื่อพูดถึงการจำหน่ายตั๋วนักเตะที่เป็นสถิติโลก ก่อนหน้านั้นคงหนีไม่พ้น กรณีของ เวอร์จิล ฟาน ไดค์ ที่ย้ายมาร่วมทีมลิเวอร์พูล ด้วยราคา 75 ล้านปอนด์ เมื่อเดือนมกราคม ปี 2018 ซึ่งสามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าพึงพอใจ อุดช่องโหว่ในเกมรับของทีมหงส์แดงจนพาทีมเป็นแชมป์ยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกได้สำเร็จเมื่อฤดูกาล 2018-2019 แต่ตอนนี้มีการสร้างสถิติใหม่อีกครั้ง เมื่อการเจรจาซื้อตัวนักเตะ แมคไกวร์ บรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการ กับทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ราคา 80 ล้านปอนด์ ซึ่งนั่นหมายความว่าเลสเตอร์ ได้กำไรจากดีลนี้กว่า 63 ล้านปอนด์ (เลสเตอร์ ซื้อแมคไกวร์มาจากฮัลล์ ซิตี้ ในราคา 17 ล้านปอนด์ เท่านั้น)
“มองในเชิงธุรกิจ ฟุตบอลเป็นธุรกิจที่ไม่มีโลจิก อาจจะเหมือนวงการพระเครื่อง เพราะอยู่ที่ความพอใจด้วย สำหรับผม ธุรกิจฟุตบอลเหมือนการเล่นโป๊กเกอร์ คุณต้องมีความยับยั้งชั่งใจ คุณต้องมีความสุขุม ไม่แสดงออกถึงความอ่อนไหว ในเกมโป๊กเกอร์ ใครนิ่งกว่าคนนั้นชนะ”
แต่ไม่ว่าจะบทบาทใด สิ่งที่เขายึดถือมาตลอดเป็นเสมือนคัมภีร์แห่งความสำเร็จก็คือคำสอนของวิชัยนั่นเอง
จาก https://thepeople.co/aiyawatt-srivaddhanaprabha-ceo-king-power-duty-free/