ท่องไปในโลกอนาคต โลกที่เป็นไปได้ โลกแห่งนวัตกรรมและวิศวกรรมสุดล้ำ กับ สมโภชน์ อาหุนัย แห่งพลัง
งานบริสุทธิ์ หรือ EA
อีก 1 ใน 20 ผู้บริหารที่ได้รับจดหมายจากนายกรัฐมนตรี คุยเรื่องโปรเจกต์ช่วยชาติในนามกลุ่ม ‘ช่วยกัน’ ที่ปั้นแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ ซึ่งตั้งใจให้เป็นโควิด-19 วีซ่าที่จะช่วยเราใช้ชีวิตใน New Normal ได้อย่างปลอดภัย
ทำไมเขาจึงเชื่อว่าโควิด-19 คือ ‘โอกาส’ ที่ดีที่สุดของประเทศไทยในการไล่กวดประเทศอื่นๆ อะไรคือโอกาสของประเทศไทยในการวิ่งแข่งในโลก New Normal
จากจดหมายที่นายกรัฐมนตรีส่งถึง 20 มหาเศรษฐี คุณจะทำอะไรบ้าง
เริ่มอย่างนี้ก่อน ถ้ามองกลับไปประมาณ 2 เดือนที่แล้ว ตอนที่โรคระบาดมันเริ่มขึ้น เราก็เริ่มคิด Scenario ขั้นแรก เราคิดก่อนว่ามันจะเป็นอย่างไรได้บ้าง เช่น Worst Scenario เกิดระบาดคล้ายๆ ประเทศสเปนหรืออิตาลี แล้วอะไรบ้างที่จะทำให้เราเดือดร้อน แล้วก็ไปดู Scenario อื่น เช่น ถ้ามันยืดเยื้อจะเป็นอย่างไร หรือเราเจอวัคซีนเร็วๆ เรารู้วิธีการรักษาเร็วๆ
เราก็เริ่มดูว่าแต่ละ Scenario จะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เราควรจะต้องมีหรือสิ่งที่เราควรจะต้องทำมีอะไรบ้าง พอเราทำ Gap Analysis ในเวลานั้นเสร็จว่าแต่ละ Scenario เป็นอย่างไร เราต้องการ Resource อะไรบ้าง ความร่วมมืออะไรบ้าง เราจะเริ่มลิสต์ลงมาในรายละเอียดได้ เราจะเริ่มรู้แล้วว่าของแต่ละชิ้นหรือ Resource แต่ละเรื่องที่เราต้องทำ เราต้องการอะไรบ้าง ประเภทไหน พอเรามองเห็นภาพนี้ มันใหญ่มาก EA คนเดียวหรือผมคนเดียวทำไม่ได้แน่นอน ก็เลยเป็นที่มาว่าเริ่มไปชวนคนที่รู้จัก คนที่เป็นพันธมิตรเรามาร่วมกันทำงาน เอา Expertise มาช่วยชาติกัน ก็เลยเป็นที่มาของการตั้งกลุ่ม ‘ช่วยกัน’ ขึ้นมา
คุณไปชวนใครมาบ้าง แบ่งส่วนกิจกรรมเป็นกี่แบบ มีอะไรบ้าง
จริงๆ เรามองเป็นเรื่องเครื่องมือก่อน เครื่องมือสำหรับระบบสาธารณสุขมีฮาร์ดแวร์อะไรบ้าง แล้วถ้าเกิดการระบาดขึ้น มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่จำเป็น ในช่วงเวลานั้นผมได้ไปสำรวจหาอุปกรณ์ต่างๆ ในตลาด แล้วก็พบว่ามีของหลายชิ้นที่ถึงเรามีเงินก็ไม่มีโอกาสได้ซื้อมัน เพราะการระบาดครั้งนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยประเทศเดียว มันเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะฉะนั้นทุกคนแย่งกันซื้อของ เราก็ต้องนั่งคิดแล้วใช้สมองว่าเราจะใช้ปัญญาของเราไปทำอย่างไรที่จะเอาของที่คนอื่นอาจจะมองไม่เห็นเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แล้วมาดัดแปลง
กลุ่มที่สองจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกัน เช่น จะทำอย่างไรให้คนติดเชื้อลดลง ไม่ใช่นั่งรอให้คนระบาดเข้ามาอย่างเดียว ซึ่งถ้าเกิดคนไม่ติดเชื้อ สถานการณ์ของทางสาธารณสุขเราก็จะดีขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นหนึ่งในระดับท็อปๆ ของโลก เพราะฉะนั้นตรงนี้คุณหมอเขาคิดได้ เขาวางแผนอย่างดี วิธีการของเราก็คือต้องเริ่มเข้าไปดูว่าเราควรจะไปช่วยเขาก่อนที่จะมาหาคุณหมอไหม ก็เริ่มไปคิดเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ อีกเหมือนกัน แต่เป็นอุปกรณ์อีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้สำหรับประชาชนหรือคนไทยทั่วไป
อีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นกลุ่มนอกโรงพยาบาล จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เขามีสุขภาพที่ดี จะทำอย่างไรให้เขารู้ให้ได้ว่าอะไรที่เสี่ยงหรือไม่เสี่ยง อันนี้คืออีกกลุ่มหนึ่งที่เราเข้าไป… ก็คือหลังจากที่เขารู้ตัวเองว่าเขาเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง เขาต้องมีอุปกรณ์อะไร มีอาวุธอะไรติดตัวเพื่อให้ไม่เสี่ยง ที่เหลือก็คือสิ่งแวดล้อม เราจะจัดการอย่างไรให้รู้ได้ว่าเขาเดินไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างไร เขาไปอยู่ใกล้กับคนที่เสี่ยงหรือไม่ อันนี้ก็เป็นโปรแกรม ‘หมอชนะ’ ที่เราคิดว่าถ้าเกิดสงครามยังไม่จบ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเวลาเราเดินออกไปข้างนอก เราเสี่ยงแค่ไหน เราจะใช้ชีวิตอยู่กับมันอย่างไร ถ้าเราไม่มีโปรแกรมตัวนี้ เหมือนเราเป็นคนตาบอด ออกไปทุกวัน เราไม่รู้ว่าความเสี่ยงอยู่ที่ไหน แต่ถ้าเรารู้ เราออกไปปั๊บ เราจะรู้ว่าถ้าเราไปตรงนี้ เราอาจจะเสี่ยงมากกว่าเราไปตรงนี้ เราก็มีสิทธิ์เลือกว่าเราอาจจะไปที่ที่เสี่ยงน้อยกว่า
อันนี้ก็เป็นการป้องกันและป้องปรามโดยที่เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปติดเชื้อ เราเองรู้ตัวว่าถ้าเราเสี่ยงมาก เราก็คงไม่อยากไปอยู่ใกล้ครอบครัวที่เรารัก พ่อ
แม่ หรือคนที่เรารัก เพราะฉะนั้นตัวเราเองก็จะแยกออกมาจากจุดที่เราจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน อันนี้มันเป็นการ Proactive มองไปข้างหน้า ทำให้คนช่วยกัน
สุดท้าย Post-COVID ก็คือเรื่องวัคซีน หรือแม้กระทั่งเรื่อง Quick Test ถ้าเราไม่มีอุปกรณ์ก็จะไม่รู้ว่าเราป่วยหรือเปล่า เพราะฉะนั้นผมเองก็จะเข้าไปในส่วนนี้ด้วย เรื่องการวิจัยวัคซีนเราก็เข้าไปลงทุนร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ที่เขามีความรู้ความสามารถเรื่องนี้ เราก็เลยจะเข้าไปซัพพอร์ตเขา ถ้าเราสามารถที่จะผลิตสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ มันก็จะทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขสูงจนเกินไป
แอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว คุณอยากให้มีผู้ใช้เป็นวงกว้างขนาดไหน
แอปพลิเคชันจะใช้ในการ Tracking, Tracing และ Causing อยากจะรู้ว่าเราไปไหนมา เราไปใกล้ใคร แล้วก็เวลาใครคนใดคนหนึ่งเกิดติดเชื้อขึ้นมา เราจะได้รู้ว่าเราไปสืบสวนหรือไป Identify ใคร แต่ส่วนที่เราเน้นจริงๆ คือการเปิดเมือง เปิดเศรษฐกิจ เพราะว่าถ้าเราเอา Information มาใช้เพียงแค่ตอนที่ใครคนใดคนหนึ่งมีปัญหาหรือติดเชื้อ มันก็แค่จัดการกลุ่มนี้ แต่มันไม่ได้ช่วยสังคมที่เหลือว่าจะอยู่กันอย่างไร ผมเปรียบเทียบกับ Google Maps ถ้าเราเอามันมาเป็นเพียงแผนที่ อยู่บนถนนเราขับรถไป เราก็จะรู้ว่าเราวิ่งไปไหน
ถ้าเราเก็บข้อมูลว่าเราวิ่งไปไหน เราใกล้ใคร เราวิ่งบนถนนนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์ต่อสังคม แต่ถ้าเราเอาข้อมูลของทุกคน โดยที่เราไม่รู้ว่าเขาคือใคร แค่รู้ว่ามีรถคันหนึ่งอยู่ตรงถนนรัชดาภิเษก มีรถอยู่ตรงนี้เป็น 1,000 คัน พอรถ 1,000 คันไม่เคลื่อน มันเลยเป็นสีแดงขึ้นมาให้เรารู้ว่าแถวนี้รถติด เราไม่ควรจะไปแถวนี้
เหมือนกันเลยครับ แอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ สิ่งที่เราทำก็คือเอาข้อมูลของแต่ละคนมาประมวลในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะกับสถานการณ์ เทียบกับ Google Maps ก็คือพื้นที่นี้มีคนที่มีความเสี่ยงเยอะๆ อยู่กี่คน อย่างนี้เสี่ยงไหม ถ้าเสี่ยงแล้วเราควรจะเข้าไปหรือเปล่า หรือมีโปรแกรมตัวนี้เข้าไปเรารู้ว่าแต่ละคนเสี่ยงอย่างไร เราอาจจะบอกได้ว่าถ้าเราไปโรงเรียน แล้วถ้าเราเสี่ยงเยอะ โรงเรียนเขาจะได้รู้ตัวว่าถ้าคุณเสี่ยงมากๆ ทำไมคุณไม่เรียนออนไลน์ แล้วคนที่เสี่ยงน้อยก็เข้ามาเรียนในคลาสได้
แอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ เราไปมองในกิจกรรมอย่างนี้ วันนี้เราติดเชื้อกันอยู่ 3,000 คน แต่เรากำลังทำให้คนอีก 70 กว่าล้านคนโดนล็อกดาวน์หมดเลย เราจะทำอย่างไรให้คนที่มีความเสี่ยงกลุ่มนี้มีผลกระทบกับคนอีก 70 ล้านคนให้น้อยที่สุด