"การเขียนโครงการประเมิน" โครงการเสนอเพื่อประเมินโครงการเป็นผลของการวางแผนและสะท้อนให้เห็นถึงระบบของความคิดของนักประเมิน ใช้เป็นแผนแม่บทและเพื่อการปฏิบัติการประเมินโครงการ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานในทีมประเมินสามารถเข้าใจตรงกันและสามารถปฏิบัติงานประเมินโครงการได้ถูกต้องเป็นเอกสารสำคัญที่หน่วยงานสนับสนุนด้านการเงินจะใช้พิจารณาว่าสมควรจะให้ทุนสนับสนุนโครงการประเมินหรือไม่ เพราะถ้าหน่วยงานตัดสินใจสนับสนุนให้เงินอุดหนุนทำการประเมินไปแล้ว ฝ่ายผู้ให้ทุนก็จะถือว่าโครงการประเมินนั้น เป็นข้อสัญญาที่นักประเมินจะต้องปฏิบัติตาม
โครงสร้างของโครงการประเมิน
รูปแบบของโครงการเพื่อประเมินโครงการประกอบด้วย
1) หลักการและเหตุผลในการประเมิน : ทำไมจึงต้องประเมิน
เป็นการกล่าวถึงภูมิหลัง ความเป็นมา วัตถุประสงค์ของโครงการที่จะประเมิน ตลอดจนความจำเป็น และความสำคัญของการประเมิน การประเมินโครงการจะมุ่งตอบคำถามที่สำคัญ 2 ลักษณะ คือ มุ่งหาข้อมูลเพื่อปรับปรุงโครงการในโอกาสต่อไปเป็นการประเมินความก้าวหน้าและการประเมินเพื่อสรุปรวมเพื่อตัดสินความสำเร็จหรือความล้มเหลวของโครงการ
2)วัตถุประสงค์ของการประเมิน : ประเมินเพื่ออะไร
(1)ผลที่ได้จากการประเมินมีอะไรบ้าง
(2)ลูกค้าของการประเมินมีใครบ้าง
การตั้งวัตถุประสงค์ของการประเมินจะต้องเขียนอย่างชัดเจน และทิศทางในการประเมินต้องตรงกับความต้องการใช้ผลการประเมินของผู้บริหารโครงการและผู้เกี่ยวข้อง ครอบคลุม วัดได้ ประเมินได้ เป็นปรนัยและเป็นที่ยอมรับของผู้ประเมินโดยทั่วไป บางกรณีอาจตั้งวัตถุประสงค์การประเมินตามช่วงเวลาของการดำเนินโครงการโดยแบ่งการประเมินเป็น 3 ระยะ คือ(1)การประเมินก่อนเริ่มโครงการเป็นการประเมินที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อตัดสินใจเลือกโครงการ ตรวจสอบความเหมาะสม ความเป็นไปได้และความสมเหตุสมผลของการวางแผนดำเนินโครงการ (2)การประเมินในระหว่างการดำเนินการ เป็นการดำเนินงานเพื่อนำโครงการไปปฏิบัติเพื่อศึกษาจุดเด่น จุดด้อย ปัญหาและอุปสรรค และ(3)การประเมินหลังการดำเนินงาน เพื่อตอบคำถามว่าโครงการประสบความสำเร็จตามแผนที่วางไว้หรือไม่ เกิดผลกระทบอะไรบ้าง
3) การวิเคราะห์และบรรยายสิ่งที่มุ่งประเมิน : สิ่งที่จะประเมินคืออะไรผู้ประเมินจะต้องทำความรู้จักโครงการที่มุ่งประเมินโดยข้อเท็จจริงหลักของการประเมินโครงการ ผู้ประเมินมีความรอบรู้เกี่ยวกับโครงการที่มุ่งประเมินมากเพียงใดก็จะสามารถประเมินโครงการนั้นได้อย่างถูกต้องเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ประเมินควรทำการวิเคราะห์ประเด็นดังต่อไปนี้
(1)หลักการและเหตุผล
(2)ธรรมชาติของโครงการ
(3)วัตถุประสงค์ของโครงการ
(4)เป้าหมายของโครงการ
(5)เนื้อหาสาระของโครงการ
(6)ขั้นตอนการดำเนินโครงการ
(7)รูปแบบการบริหารโครงการ และบุคลากร
(8)งบประมาณของโครงการ
(9)การติดตาม และประเมินโครงการ
(10) เกณฑ์ในการประเมินโครงการ
4) วิธีประเมิน : จะประเมินอย่างถูกต้องได้อย่างไร
(1) การออกแบบประเมิน เป็นการกำหนดกรอบแนวความคิดและรูปแบบของการประเมินโครงการในรายละเอียดว่าจะเก็บรวบรวมข้อมูลด้านใดบ้าง จากแหล่งใด ด้วยเครื่องมือประเภทใด จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์อย่างไรและใช้ในเกณฑ์ใดในการตัดสิน
(2)การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการนำเสนอให้เห็นว่าจะใช้เครื่องมืออะไรในการเก็บรวบรวม ข้อมูลหรือจะต้องสร้างเครื่องมือเก็บข้อมูล ให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการประเมิน ทดลองใช้เครื่องมือและตรวจสอบคุณภาพพื้นฐานของเครื่องมือ เช่น ดัชนีความยาก อำนาจจำแนก ความเที่ยง ความตรง ก่อนที่จะนำเครื่องมือไปใช้จริง
(3)การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นส่วนที่นำไปสู่ ความชัดเจนในการเก็บรวบรวมข้อมูล
จะทำให้ทราบว่าจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูล ที่ไหน เมื่อไร จากใครและจะใช้เทคนิควิธีใดในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอ และถูกต้อง
(4)วิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลจะต้องใช้สถิติให้เหมาะสมกับลักษณะข้อมูลแต่ละประเภท กระบวนการการวิเคราะห์ข้อมูลปกติจะไม่ใช้วิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อนมากเช่นถ้าเป็นข้อมูลเชิงปริมาณสามารถนำมาวิเคราะห์สถิติต่างๆ เช่นแจกแจงความถี่ค่ามัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ การทดสอบนัยสำคัญทางสถิติ t - test, f - test เป็นต้น ข้อควรระวังคือจะใช้สถิติใดต้องตรวจสอบว่าข้อมูลเป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่ ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพ หรือข้อมูลที่ไม่ใช้เชิงปริมาณนั้นสามารถวิเคราะห์ได้โดยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา
5) ร่างรายงานการประเมิน : จะให้ผู้ใช้ผลทราบผลการประเมินได้อย่างไร เมื่อไร
(1)ส่วนประกอบของรายการประเมิน
(2)ประโยชน์ของการประเมินในครั้งนี้
(3)การแจกจ่ายรายงานและการใช้ประโยชน์
(4)กำหนดการรายงานการประเมิน
6) แผนการดำเนินการประเมิน : ทำอะไร เมื่อไร เป็นการระบุให้ทราบถึงเวลาที่จะใช้ในการดำเนินงานตลอดโครงการ กิจกรรมการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน ซึ่งอาจประกอบด้วย การจัดทำโครงการประเมินการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การวางแผนการประเมิน การพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน การทดลองเครื่องมือ การปรับปรุงเครื่องมือ การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลและเขียนรายงาน ตลอดจนการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ในแต่ละกิจกรรมควรระบุช่วงเวลาให้ชัดเจน ในส่วนนี้นำเสนอให้เห็นในรูป Bar Chart หรือ GANTT Chart จะทำให้เห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น
7) งบประมาณการประเมิน : ใช้เงินเท่าไร เป็นการระบุค่าใช้จ่ายในการประเมินโครงการ โดยจำแนกตามหมวดเงิน เป็นหมวดค่าตอบแทน หมวดค่าใช้สอย หมวดค่าวัสดุ และหมวดอื่นๆ
8) ประวัติคณะวิจัย : ใครเป็นผู้ประเมิน ในส่วนนี้ระบุให้ทราบว่ามีใครเป็นหัวหน้าโครงการประเมิน ผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วยใครบ้างจะต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อ - สกุล ตำแหน่งปัจจุบัน สถานที่ทำงาน วุฒิการศึกษา สาขาวิชาที่มีความชำนาญ ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
9) บรรณานุกรม : มีอะไรอ้างอิง